บริการ

บริการของเรา

ระพีพรรณคลินิก เข้าใจความต่างของผู้หญิงทุกช่วงวัย และตระหนักถึงความต้องการของผู้หญิงที่อยากมีสุขภาพดี จึงพร้อมให้บริการดูแลคุณสุภาพสตรีทุกวัยอย่างครบวงจร ตั้งแต่การตรวจสุขภาพ ไปจนถึงการวินิจฉัย ป้องกัน และรักษาโรคของสตรี การฝากครรภ์และการคลอด โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทีมพยาบาลวิชาชีพ ทีมผู้ชวยพยาบาลพร้อมด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ในบรรยากาศที่กว้างสบายและเป็นส่วนตัว

01.

การดูแลก่อนคลอด
และการคลอด

02.

การตรวจมะเร็งปากมดลูกและเอชพีวี

03.

โคลโปสโคป

04.

การจัดการการคุมกำเนิด

05.

ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

06.

สูติศาสตร์
อัตร้าซาวด์ 2 มิติ 3 มิติ และ 4 มิติ

07.

อัลตร้าซาวด์
ช่องท้อง

08.

ตรวจสุขภาพ
ผู้หญิง

การผ่าตัดมดลูก

การผ่าตัดมดลูก คือ การตัดมดลูกออกทั้งหมดซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยไม่มีประจำเดือนอีกต่อไปและไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก

เพราะเหตุใดจึงต้องมีการผ่าตัดมดลูก

การผ่าตัดมดลูกมีจุดประสงค์เพื่อรักษาอาการและภาวะดังต่อไปนี้

  • อาการเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกซึ่งไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่นๆ
  • เนื้องอกมดลูก
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ซึ่งมีอาการร้ายแรง
  • พังผืดในมดลูก
  • อาการเจ็บในอุ้งเชิงกรานซึ่งเกี่ยวข้องกับมดลูกและไม่อาจรักษาได้โดยวิธีอื่นๆ
  • ภาวะมดลูกหย่อนเป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้ หรือถ่ายอุจจาระลำบาก
  • มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งที่เกี่ยวกับมดลูก
  • ความผิดปกติขณะคลอด (อาทิ ภาวะเลือดไหลไม่หยุด)
  • เนื้องอกของมดลูกขนาดใหญ่หรือจำนวนมากจนกล้ามเนื้อมดลูกเสียไป ไม่สามารถผ่าตัดตกแต่งซ่อมแซมได้

วิธีการผ่าตัดมดลูก

การผ่าตัดมดลูกมี 4 วิธีด้วยกัน ซึ่งการจะเลือกใช้วิธีใดนั้น แพทย์จะพิจารณาจากสภาวะของผู้ป่วยและความร้ายแรงของโรคที่เป็น ทั้งนี้วิธีการผ่าตัดทั้ง 4 สามารถเรียงลำดับตามความนิยมและผลกระทบต่อผู้ป่วย อาทิ รอยแผล และระยะเวลาในการพักฟื้น ได้ดังนี้

  • การผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด (Vaginal Hysterectomy)
  • การผ่าตัดมดลูกโดยใช้กล้องส่องช่องท้อง (Laparoscopic Hysterectomy)
  • การผ่าตัดมดลูกผ่านผนังหน้าท้องแบบแผลเล็ก (Minilaparotomy Hysterectomy)
  • การผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้องแบบปกติ (Abdominal Hysterectomy)

ที่รพ.เกาะสมุยบริการการผ่าตัดมดลูก แบบการผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้องแบบปกติ (Abdominal Hysterectomy) และ การผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด (Vaginal Hysterectomy)สำหรับในรายมดลูกหย่อนเท่านั้น

การผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด (Vaginal Hysterectomy)

การผ่าตัดมดลูกโดยวิธีที่แพทย์เข้าถึงมดลูกผ่านทางช่องคลอดนี้ เป็นการผ่าตัดที่ผู้ป่วยมักจะเลือกเป็นลำดับแรกๆ เนื่องจาก

  • ไม่ทิ้งรอยแผลเป็นหลังผ่าตัด แม้จะมีรอยเย็บด้านในเช่นเดียวกับการผ่าตัดวิธีอื่น แต่เนื่องจากไม่มีการเปิดหน้าท้อง จึงไม่มีแผลปรากฏให้เห็นบริเวณผิวหนังภายนอก
  • ใช้เวลาในการพักฟื้นน้อยกว่าวิธีการอื่นๆ
  • เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า
  • มีโอกาสติดเชื้อบริเวณที่ผ่าตัดน้อยกว่า
  • มีผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียงน้อยกว่า

ในอดีต การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดจะกระทำในกรณีที่มดลูกหย่อนเท่านั้น แต่ปัจจุบัน เทคนิค ทักษะของศัลยแพทย์ รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้พัฒนาไปมาก การผ่าตัดมดลูกด้วยวิธีนี้จึงสามารถกระทำได้ในหลายข้อบ่งชี้ เช่น เนื้องอกมดลูก เลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก ผู้ป่วยที่ไม่เคยคลอดบุตรมาก่อน รวมทั้งในผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดคลอดมาแล้ว

ทั้งนี้ การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดต้องกระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะเท่านั้น

การผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้องแบบปกติ (Abdominal Hysterectomy)

การผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้องแบบปกติจะกระทำก็ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น เนื่องจากต้องเปิดแผลกว้างถึง 15 เซนติเมตร แม้จะเป็นหัตถการที่มีความปลอดภัยแต่ก็ต้องอาศัยเวลาในการพักฟื้นนาน และมีโอกาสเกิดแผลเป็นสูง ดังนั้น ในโรงพยาบาลที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสภาวะของผู้ป่วยเอื้ออำนวย การผ่าตัดมดลูกโดยวิธีการอื่นๆ จะเป็นที่นิยมมากกว่า

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการผ่าตัดมดลูก

โดยปกติ การผ่าตัดมดลูกจะใช้เวลาประมาณ 1 ถึง 3 ชั่วโมง ซึ่งแพทย์อาจเลือกวางยาสลบ
หรือใช้ยาชาเฉพาะที่ระหว่างทำการผ่าตัด แพทย์อาจตัดมดลูกออกทั้งหมดหรือตัดออกเฉพาะบางส่วน
หรือบางกรณีก็มีการตัดท่อนำไข่ออกด้วย ภายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยยังคงต้องใส่สายสวนปัสสาวะต่อไปประมาณ 1 ถึง 2 วัน
ส่วนระยะเวลาในการพักฟื้นนั้นมีตั้งแต่ 1 ถึง 3 วันโดยจะแตกต่างกันไปตามวิธีการผ่าตัดที่เลือกใช้

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน

ในการผ่าตัด อาจเกิดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับยาสลบที่ใช้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความผิดปกติของหัวใจและระบบทางเดินหายใจ ส่วนความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ มีดังต่อไปนี้

  • แผลติดเชื้อภายใน แผลปริขาด
  • ภาวะเลือดออกมากหรือเกิดลิ่มเลือด
  • ติดเชื้อ
  • บาดเจ็บบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ และลำไส้
  • เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ มีความต้องการทางเพศลดลง ถึงจุดสุดยอดยากขึ้น
  • ท้องอืดชั่วคราวเนื่องจากลำไส้ไม่ทำงาน

นอกจากนี้ ภายหลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีอาการซึมเศร้า เนื่องจากความรู้สึกสูญเสีย แต่จะดีขึ้นภายในเวลาไม่นาน

ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดทั้งช่วงก่อนและหลังการผ่าตัด

ทางเลือกอื่นๆ ในการรักษา

สำหรับทางเลือกอื่นๆ ในการรักษาโรคโดยไม่ต้องทำการผ่าตัดมดลูกนั้น ขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหาเป็นสำคัญ โดยแพทย์อาจแนะนำทางเลือกให้แก่คุณ ดังนี้

  • การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ซึ่งอาจมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาภาวะเลือดออกผิดปกติ
  • การขูดมดลูก สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาประจำเดือนมามากผิดปกติ
  • การใช้ยาเพื่อลดการก่อตัวของเนื้อเยื่อในมดลูก
  • การผ่าตัดเฉพาะเนื้องอกในมดลูก เป็นการผ่าตัดใหญ่ และโดยมากผู้ป่วยมักพบเนื้องอกซ้ำในระยะเวลา 5 ปี
  • อาการปวดเรื้อรัง อาจดีขึ้นได้โดยการใช้ยาแก้ปวดลดการอักเสบ ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือกายภาพบำบัด

ความคาดหวังหลังการผ่าตัด

การผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกไปในผู้ที่ยังไม่หมดประจำเดือน ส่งผลให้ผู้ป่วยหมดประจำเดือนทันทีและขาดฮอร์โมนเพศหญิงร่วมด้วย ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับฮอร์โมนเสริมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

การบริการคลอดบุตร

การตัดสินใจเลือกสถานที่สำหรับให้ลูกน้อยลืมตามาดูโลกเป็นเรื่องที่สำคัญของคุณพ่อคุณแม่ คนไข้ที่มาฝากครรภ์ที่คลินิกสามารถนำเอกสารการฝากครรภ์ไปคลอดได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่วางใจต้องการให้หมอเป็นผู้ดูแลตลอดการตั้งครรภ์และทำคลอดโรงพยาบาลเกาะสมุยเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลที่ได้มาตรฐาน มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิสัญญี กุมารแพทย์ อายุรแพทย์ที่พร้อมดูแลร่วมกัน มีห้องคลอดที่ได้มาตรฐาน มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปลอดภัย พร้อมทีมพยาบาลที่มีความชำนาญและได้รับการอบรมมาโดยเฉพาะ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มั่นใจได้ว่าการคลอดลูกน้อยจะสมบูรณ์และปลอดภัย และช่วงเวลาแห่งการคลอดเป็นช่วงเวลาที่พิเศษที่สุดในชีวิต

ทางเลือกในการคลอด

คุณแม่สามารถปรึกษาแพทย์ถึงทางเลือกในการคลอดและวิธีการดูแลขณะคลอด เพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสม และช่วยให้คุณแม่คลายความกังวล สามารถเตรียมตัวเพื่อการคลอดได้อย่างมั่นใจ

ห้องคลอด โรงพยาบาลเกาะสมุย พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีบริการต่อไปนี้

  • การคลอดธรรมชาติ: เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์ว่าเป็นวิธีการคลอดที่ดีที่สุดในกรณีที่คุณแม่มีร่างกายแข็งแรงและลูกน้อยไม่มีความผิดปกติใดๆ เนื่องจากไม่ต้องเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน การติดเชื้อ และการคลอดผ่านทางช่องคลอดจะช่วยรีดน้ำคร่ำที่อยู่ในปอดของลูกออกมาจนหมด ทำให้ปอดขยายตัวได้ดี
  • การคลอดธรรมชาติโดยฉีดยาที่ไขสันหลัง: เป็นวิธีการคลอดแบบธรรมชาติที่แพทย์จะฉีดยาเข้าไขสันหลังเพื่อลดความเจ็บปวดของอาการเจ็บท้องคลอด ซึ่งการฉีดยานี้จะทำให้คุณแม่รู้สึกชาตั้งแต่เอวลงมา แต่ยังรู้สึกตัวตลอดเวลา
  • การผ่าตัดคลอด: เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถคลอดได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากลูกมีขนาดโตมากหรืออยู่ในท่าที่ผิดปกติ คุณแม่มีโรคประจำตัว หรืออื่นๆ ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าการคลอดธรรมชาติอาจมีความเสี่ยงต่อคุณแม่และลูกน้อย อย่างไรก็ดี สำหรับคุณแม่ที่สามารถคลอดเองได้แต่ต้องการผ่าตัดคลอดก็ทำได้เช่นกัน แต่วิธีการผ่าตัดคลอดจะทำให้คุณแม่เสียเลือดมากกว่าและเจ็บแผลนานกว่าวิธีการคลอดแบบธรรมชาติ

ในช่วงเวลาการคลอด ทีมแพทย์ซึ่งประกอบด้วย สูติแพทย์ วิสัญญีแพทย์ รวมถึงพยาบาลวิชาชีพ จะให้การดูแลคุณแม่และลูกน้อยอย่างใกล้ชิด และทันทีที่ลูกน้อยถือกำเนิด แผนกบริบาลทารกแรกเกิด (nursery) จะเข้ามาดูแลสุขภาพลูกน้อยของคุณอย่างใกล้ชิด หากพบความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย แผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (ICU) โดยทีมแพทย์และพยาบาลวิชาชีพที่ได้รับการอบรมเฉพาะทางจะเข้ามาดูแล พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

การตรวจแปปสเมียร์

แปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดผ่านและถ่างช่องคลอด จากนั้นจะทำการป้ายเซลล์จากมดลูกส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติหรือเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งได้

ใครควรตรวจแปปสเมียร์

แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ถึงเวลาที่ควรเริ่มตรวจแปปสเมียร์และความถี่ที่ต้องมารับการตรวจ สมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้แนะนำแนวทางการตรวจแปปสเมียร์ดังนี้

  • สตรีทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป หรือ 3 ปีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ขึ้นกับว่าเวลาใดถึงก่อน ควรเริ่มทำการตรวจแปปสเมียร์ หลังจากนั้นทำการตรวจทุก 1-2 ปี
  • สตรีที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจแปปสเมียร์ทุกปี หากผลตรวจเป็นปกติติดต่อกัน 3 ปี สามารถตรวจแปปสเมียร์ทุก 3 ปีได้ ยกเว้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก เช่น มีการติดเชื้อ HIV ติดเชื้อ HPV (Human Papillomavirus) มีโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีมารดาที่ใช้ยา diethylstilbestrol ขณะตั้งครรภ์ ต้องทำการตรวจแปปสเมียร์ทุกปี
  • สตรีที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป หากมีผลการตรวจเป็นปกติ 3 ปีติดต่อกัน ไม่มีผลการตรวจที่ผิดปกติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และไม่มีปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก อาจยกเลิกการตรวจแปปสเมียร์ได้

การเตรียมตัวก่อนการตรวจแปปสเมียร์

  • ควรนัดตรวจแปปสเมียร์ในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
  • ห้ามสวนล้างช่องคลอดก่อนการตรวจ
  • ห้ามใช้ยาเหน็บช่องคลอด ครีม หรือยาฆ่าเชื้ออสุจิในช่องคลอดก่อนการตรวจ 48 ชั่วโมง
  • งดมีเพศสัมพันธ์ก่อนการตรวจ 24 ชั่วโมง